16 กันยายน 2562

โรคเบาหวานคืออะไร

โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวาน เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) หรือผลิตได้ไม่เพียงพอ ซึ่งอินซูลินมีหน้าที่ในการนำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย เมื่อไม่สามารถนำไปใช้ได้ น้ำตาลคลูโคสจึงเกิดการสะสมอยู่ในเลือดเป็นปริมาณสูง ส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานนั่นเอง
โรคเบาหวานในระยะแรกมักไม่แสดงอาการเตือนให้เห็น หลังจากนั้นอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลด หรือจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น และเมื่อผู้ป่วยไปตรวจโรคแทรกซ้อน จึงค้นพบโรคเบาหวาน ปัจจุบันสามารถตรวจภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ ด้วยการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และตรวจระดับน้ำตาลสะสม


ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)
ฮอร์โมนอินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในร่างกาย สร้างขึ้นจากกลุ่มเซลล์ในตับอ่อนที่ชื่อว่า เบต้า (Beta cells) มีหน้าที่สำคัญ คือ ควบคุมกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย โดยการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรูปของพลังงานเข้าไปสู่กล้ามเนื้อและเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย

ลักษณะอาการของโรคเบาหวานเบื้องต้น
ปกติแล้ว โรคเบาหวาน มักไม่แสดงอาการออกมาให้รับรู้ แต่ผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการได้จากภาวะต่างๆ ในร่างกาย โดยมีลักษณะอาการดังนี้
ปัสสาวะบ่อยขึ้น หิวน้ำมากขึ้น หากเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นและหิวน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะกระหายน้ำมากกว่าเดิม นี่เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน เพราะร่างกายต้องการขับน้ำตาลที่มีอยู่สูงในเลือดออกมาทางปัสสาวะ
น้ำหนักลด น้ำหนักที่ลดผิดปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางชนิดก็ได้ โดยเฉพาะเบาหวาน การมีน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้น้ำหนักลดลงเร็วมาก ประมาณ 5-10 กิโลกรัมภายใน 2-3 เดือน
บาดแผลหายช้า หากมีแผลที่บริเวณผิวหนัง เช่น มีดบาด การติดเชื้อ หรือรอยฟกช้ำ และแผลหายช้ามาก นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกให้รู้ว่า คุณอาจเป็นโรคเบาหวาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงของผู้ป่วยเบาหวานจะไปขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด
หิวบ่อย กินจุบจิบ ถ้าเกิดหิวบ่อยและกินจุบจิบขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ คุณอาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้ เพราะเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะทำให้ร่างกายต้องการอาหารเพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งสัญญาณเป็นความหิวนั้นเอง
อ่อนเพลีย อารมณ์ไม่คงที่ อาการอ่อนเพลียและอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะส่งผลต่อการทำงานทุกระบบ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับอารมณ์ด้วย

ภาวะแทรกซ้อนสำคัญของ โรคเบาหวาน
เบาหวานขึ้นตา เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในดวงตาโป่งพอง จึงทำให้เกิดเลือดและน้ำเหลืองซึมออกมาจากหลอดเลือดบริเวณนั้น หากไม่รักษาจะทำให้จอตาขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากปริมาณน้ำเหลืองและเลือดที่ซึมออกมามากเกินไป ปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เซลล์รับรู้ในจอตาเสียหาย ส่งผลให้มองเห็นได้ไม่ชัด
การติดเชื้อราหรือยีสต์ในช่องคลอดผู้ป่วยหญิงที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะ สารคัดหลั่งในช่องคลอดจะมีน้ำตาลกลูโคสมากกว่าปกติจากการที่มีน้ำตาลสูงในกระแสเลือด ทำให้ยีสต์เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำตาลมากจนกลายเป็นการติดเชื้อ อาจหมายถึงยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ หรือแสดงถึงการติดเชื้อในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ภาวะคิโตซิส (Diabetic Ketoacidosis) หรือ DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรดด้วยคีโตนจากเบาหวาน เกิดจากร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานได้ จึงย่อยสลายไขมัน เพื่อนำมาเป็นแหล่งพลังงานทดแทน แต่ได้สารคีโตนซึ่งเป็นกรดออกมาร่วมด้วย
ภาวะเบาหวานที่ควบคุมได้ยาก (Brittle diabetes หรืออีกชื่อหนึ่งว่า Labile diabetes) ใช้เรียกเบาหวานประเภทที่หนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดนี้จะมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่เปลี่ยนแปลงสูงต่ำอย่างมาก
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดต่ำกว่าปกติ (น้อยกว่า 72 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ส่งผลให้ร่างกายไม่มีพลังงานเพียงพอสำหรับกิจกรรมต่างๆ มักเกิดในผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาหรือฉีดยารักษาเกินขนาด หรือช่วงที่มีอาการเจ็บป่วยแล้วทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) คือ ภาวะที่เลือดมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวานบางรายอาจสูงมากกว่า 200 300 หรือ 400 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรีบลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เช่น ดื่มน้ำแก้วใหญ่ ออกกำลังกาย เป็นต้น